สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นำเสนอรายงานการประชุมครั้งที่ 24/2564 ที่ได้จัดประชุมไปเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช.
รวดเดียว 9 ช่องทีวี! กสทช. เตือนการนำเสนอข่าวกรณีตำรวจใช้ความรุนแรงผู้ต้องหา
โดยในวาระที่ 5.1.49 เป็นวาระที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อันเนื่องมาจากมีการร้องเรียนกรณีการออกอากาศรายการข่าวเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ซึ่งอาจมีเนื้อหาไม่เหมาะสม ในเหตุการณ์ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ใช้ความรุนแรงต่อผู้ต้องหาคดียาเสพติด อาจเข้าข่ายเป็นเนื้อหาที่ส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีผลกระทบต่อการก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจของประชาชนอย่างร้ายแรง อันต้องห้ามออกอากาศตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551

ส่งผลทำให้ที่ประชุมเสียงข้างมาก อันได้แก่ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ทำหน้าที่ประธาน กสทช., พันเอก ดร. นที สกุลรัตน์, พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ, รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์, ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้กำหนดโทษปรับทางปกครองแก่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล รายละ 50,000 บาท โดยสั่งปรับจำนวน 3 สถานีโทรทัศน์ ได้แก่ ช่องไทยรัฐทีวี (หมายเลข 32) ออกอากาศในรายการ “ไทยรัฐนิวส์โชว์”, ช่องอมรินทร์ ทีวี เอชดี (หมายเลข 34) ออกอากาศในรายการ “ทุบโต๊ะข่าว” และช่อง 8 (หมายเลข 27) ออกอากาศรายการ “เกาะติดข่าว 8”
และได้มีหนังสือขอความร่วมมือไปยังอีก 6 สถานีโทรทัศน์ให้ระมัดระวังในการนำเสนอเนื้อหารายการที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง โดยหลีกเลี่ยงการฉายภาพความรุนแรงซ้ำ การอธิบายขั้นตอนการกระทำความรุนแรงต่อตนเองและบุคคลอื่น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพของสื่อสารมวลชน โดย 6 ช่องโทรทัศน์ที่ถูกตักเตือนได้แก่ JKN18 ออกอากาศรายการ “เรื่องร้อนรายวัน”, Nation TV (หมายเลข 22) ออกอากาศรายการ “NATION กรองข่าว”, เวิร์คพอยท์ทีวี (หมายเลข 23) ออกอากาศรายการ “บรรจงชงข่าว”, ช่อง 3HD (หมายเลข 33) ออกอากาศรายการ “ข่าว 3 มิติ”, ช่อง 7HD (หมายเลข 35) ออกอากาศรายการ “ประเด็นเด็ด 7 สี” และช่อง PPTV (หมายเลข 36) ออกอากาศรายการ “เข้มข่าวค่ำ”
ที่ประชุมเสียงข้างน้อย ได้แก่ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ขอสงวนความเห็น โดยเห็นชอบในส่วนของการมีหนังสือขอความร่วมมือ ตามมติที่ประชุมข้อ 2. แต่ไม่เห็นชอบด้วยในส่วนของมติที่ประชุมข้อ 1. ที่พิจารณาเห็นว่าเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงของเรื่องที่เป็นข่าวมีความสะเทือนขวัญและเป็นเนื้อหาสาระที่อาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอยู่ในตัวเอง มิใช่เรื่องที่ทางรายการหรือผู้ได้รับใบอนุญาตจัดทำขึ้น ส่วนที่ว่าในการนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจมีความไม่เหมาะสมหรือไม่ เห็นว่าประเด็นดังกล่าวเข้าข่ายเป็นเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ จึงเป็นกรณีที่ กสทช. จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรา 27 (18) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ และมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการฯ ก็กำหนดให้ กสทช. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพและควบคุมการประกอบวิชาชีพเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อ กสทช. ยังไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงยังไม่มีมาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพที่จะใช้เป็นเกณฑ์ได้ และ กสทช. ก็ไม่อาจที่จะตั้งเกณฑ์วินิจฉัยเองได้ ทั้งนี้ เห็นควรที่ กสทช. จะต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้
ThaiPBS ขอจัดสรรคลื่นวิทยุ FM

นอกเหนือจากนี้ ในวาระที่ 5.1.61 ยังเป็นวาระที่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุระบบเอฟเอ็ม เพื่อใช้ในกิจการวิทยุกระจายเสียง โดยคณะกรรมการ กสทช. เห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามเอกสารที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. แจ้งตอบองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เพื่อทราบแนวทางการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับให้บริการกระจายเสียงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายและ กสทช. กำหนด และสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องตามแผนการดำเนินงานในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการกระจายเสียง และประกาศหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พันธกิจ และอำนาจหน้าที่ของ ส.ส.ท. ที่กฎหมายกำหนด ตามความเห็นของสำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งกำหนดให้ส.ส.ท. แจ้งความประสงค์กลับมายังสำนักงาน กสทช. อีกครั้ง เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีข้อสังเกตว่า ในเบื้องต้นเหตุเกิดจากการที่ไม่นำคลื่นความถี่ทั้งหมดมา Refarm เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม จึงทำให้ผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ได้ ดังนั้น ถ้าหากดำเนินการเรียกคืนและวางแผนจัดสรรคลื่นความถี่อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปฏิเสธคำขอในครั้งนี้
ThaiPBS ขอขยายระยะเวลาทดลองออกอากาศ ALTV อีก 6 เดือน – จบ 30 มิถุนายน 2565
และในวาระที่ 5.1.74 ซึ่งเป็นวาระการขอขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว โครงการ Active Learning TV (ALTV) ทีวีเรียนสนุก ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กสทช. เสียงข้างมาก ได้แก่ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ทำหน้าที่ประธาน กสทช., พันเอก ดร. นที สกุลรัตน์, พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ, รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตามเอกสารที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว โครงการ Active Learning TV (ALTV) ทีวีเรียนสนุก ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดการอนุญาต (31 ธันวาคม 2564) โดยให้จัดส่งรายงานผลการทดสอบโดยละเอียดให้สำนักงาน กสทช. ทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว และเงื่อนไขการอนุญาตอย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

โดยนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา มีข้อสังเกตเรื่องความชัดเจนของการอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ และประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เพราะรายการอื่นที่ได้รับการอนุญาตภายหลัง อาทิเช่น ช่องรายการสำหรับกีฬา ช่องรายการสำหรับประชาธิปไตย ซึ่งมีการทดลองออกอากาศน้อยกว่า แต่กลับได้รับการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และสำหรับความเห็นที่ระบุว่า ในส่วนเนื้อหารายการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว มีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้นกว่าด้านการศึกษานั้น ตามข้อเท็จจริงรายการที่ กสทช. จัดสรรเป็นช่องบริการสาธารณะนั้นมีรายการสำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัวอยู่ กล่าวคือ กสทช. ได้จัดสรรอย่างกว้างขวางไปแล้ว จึงไม่ควรเป็นประเด็นที่อ้างว่าเป็นการออกอากาศเนื้อหารายการที่กว้างกว่าด้านการศึกษา
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ยังกล่าวในที่ประชุมเพิ่มเติมว่า “ผมมีความเห็นว่ากระบวนการพิจารณาอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล บริการสาธารณะ ควรที่จะต้องมีกระบวนการคัดเลือกผู้ที่ได้รับอนุญาตที่มีเปิดเผย โปร่งใส มีมาตรฐานและมีความเป็นสากลสอดคล้องกับการดำเนินการในลักษณะเดียวกันของประเทศใหญ่ ๆ ที่เป็นแบบอย่างที่ดีและได้รับการยอมรับ เช่น ในยุโรปหรืออเมริกา เพื่อมิให้เกิดข้อครหาได้ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำช่องรายการ พร้อมทั้งมีความพร้อมทางด้านการเงิน การบริหารจัดการ ซึ่งจะเป็นการอำนวยประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริงดังที่ผมได้ให้ความเห็นก่อนหน้านี้ไปแล้ว
กระบวนการพิจารณาและให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ของ ส.ส.ท. ในข้างต้น รวมถึงของช่องทีวีของการกีฬาแห่งประเทศไทยที่มีการอนุมัติไปเมื่อการประชุม กสทช. ครั้งที่ 22/2564 เมื่อวันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นั้น มีลักษณะเจาะจงแต่ก็ไม่มีกระบวนการพิจารณาที่ชัดเจนโปร่งใสโดยต่างไม่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานที่เป็นหลักสากล ไม่ได้มีการเปิดให้มีการยื่นอย่างเป็นทางการเพื่อเปรียบเทียบแข่งขันกันและไม่มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นความพิเศษแตกต่างของกระบวนการขอและให้ใบอนุญาตแก่องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จึงขอยกรายละเอียดลำดับขั้นตอนในการทดลองทดสอบและการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ของ ส.ส.ท. มาให้เห็น ดังนี้
- วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 8/2563 มีมติอนุญาตให้ทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระยะเวลา 6 เดือน
- วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 23/2563 มีมติให้ขยายระยะเวลาทดลองฯ อีก 6 เดือน
- วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 12/2564 มีมติให้ขยายระยะเวลาทดลองฯ อีก 6 เดือน
- วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ส.ส.ท. นำส่งรายงานผลการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว โครงการ ALTV
- วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ พิจารณาการอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ประเภทที่ 1 ของ ส.ส.ท. โดยที่ประชุมคณะอนุกรรมการยังไม่มีมติให้อนุญาต และเห็นควรให้ขยายระยะเวลาการทดลองฯ ออกไปอีก 6 เดือน ทั้งนี้ เป็นวาระที่ กสทช. ยังไม่ได้พิจารณามีมติ
- วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ส.ส.ท. มีหนังสือยื่นขอขยายระยะเวลาทดลองฯ ต่อไปอีก 6 เดือน
ลำดับขั้นตอนในการทดลองทดสอบและการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะ ของ ส.ส.ท. ในข้างต้น จึงไม่สะท้อนกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล บริการสาธารณะ ที่มีความโปร่งใสและมีมาตรฐานที่เป็นสากล